Lug
Advertisement

VERSION th.lug.wikia.com:-

PARTICIPANTS:

  • Banlu Kemiyatorn
  • Rawitat Pulam
  • Thana Punya
  • [MORE]

แนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสาธารณะ

ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ[]

เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมในหลายด้าน เนื่องจากประชากรมีเพิ่ม มากขึ้นทุกปี การให้บริการข้อมูลและสารสนเทศต่อสาธารณะจึงควรมีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน มีความถูกต้อง โปร่งใสเป็นกลาง มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัยจากการแทรกแซงจากกลุ่มบุคคล และสามารถ ขยายงานได้โดยสะดวกเพื่อรองรับหน่วยงานของรัฐที่ต้องขยายตัวเพื่อให้รองรับการเพิ่มจำนวนของประชาชน เอกสารนี้จะพิจารณาแนวทางโดยหลักการ ของการใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์เสรี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีเพื่อการสาธารณะ ตามวัตถุประสงค์ในหัวข้อต่อไปนี้

  1. เสรีภาพ
  2. ความพอเพียง ความยั่งยืน เสถียรภาพ ประสิทธิภาพ ความสามารถในการขยายงานเพื่อรองรับการเติบโตของชุมชน
  3. ความปลอดภัย โปร่งใส เป็นกลาง ความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้
  4. การกระจายรายได้อย่างเหมาะสมไปสู่วิสาหกิจซอฟต์แวร์ในทุกขนาด
  5. การพัฒนาการศึกษา


คำเฉพาะ[]

ซอฟต์แวร์เสรี (free software)[]

หมายถึงซอฟต์แวร์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขสี่ประการตามนิยามของมูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี

ซอฟต์แวร์ต้นรหัสเปิด (open source software)[]

หมายถึงซอฟต์แวร์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขหรือนิยามของ Open Source Initiative (OSI). เงื่อนไขส่วนใหญ่จะคล้ายกับซอฟต์แวร์เสรี, แต่ต่างกันในทัศนคคิ, โดยจะเน้นย้ำเรื่องเสรีภาพน้อยกว่าซอฟต์แวร์เสรี.

ซอฟต์แวร์เอกสิทธิ์เฉพาะ (proprietary software)[]

ซอฟต์แวร์อื่นๆที่ใช้กันอยู่ทั่วไปและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของซอฟต์แวร์เสรี

มูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี (Free Software Foundation)[]

มูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์เสรี

ต้นรหัสของซอฟต์แวร์ (source code)[]

ชุดคำสั่งที่ใช้ในการผลิตซอฟต์แวร์ทั่วไป มีไว้เพื่อให้มนุษย์ใช้ ต้องผ่านการ compile ก่อนจึงจะได้ machine code ที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปประมวลผลได้จริง

เสรีภาพ[]

แนวคิดพื้นฐานของซอฟต์แวร์เสรี[]

ซอฟต์แวร์เสรีเป็นกระบวนทัศน์ที่มีแรงผลักดันมาจากแนวคิดทางการเมืองที่ต้องการส่งเสริม เสรีภาพของการใช้ซอฟต์แวร์เป็นสาระสำคัญ โดยมีการกำหนดลักษณะเฉพาะของซอฟต์แวร์ เสรีขึ้นใช้ร่วมกันสี่ประการคือ

  • เสรีภาพในการใช้งานซอฟต์แวร์ตามความต้องการ
  • เสรีภาพที่จะศึกษาการทำงานของโปรแกรมผ่าน source code และนำไปใช้ตามความต้องการ
  • เสรีภาพที่จะจำหน่ายจ่ายแจกซอฟต์แวร์นั้นต่อไป
  • เสรีภาพในการดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงจำหน่ายจ่ายแจกซอฟต์แวร์ที่ได้พัฒนาแก้ไขและดัดแปลงเพิ่มเติมนั้น

แม้ว่าเราจะสามารถขายหรือแจกจ่ายซอฟต์แวร์เสรีได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข แต่ซอฟต์แวร์เสรีก็ยังคงเป็นซอฟต์แวร์ที่มี ลิขสิทธิ์มีข้อบังคับเช่นเดียวกับซอฟต์แวร์ทั่วๆไป ซอฟต์แวร์เสรีจึงมีรูปแบบของลิขสิทธิ์หลายรูปแบบ มีเงื่อนไขต่างๆกันไป แต่ต้องมีจุดยืนร่วมกันคือเสรีภาพสี่ประการข้างต้น

ความเป็นมาโดยย่อของซอฟต์แวร์เสรี[]

แนวคิดซอฟต์แวร์เสรีเกิดขึ้นใน MIT เมื่อสิบกว่าปีก่อน โดย ดร. ริชาร์ด สตอลแมน ซึ่งมีปัญหากับระบบซอฟต์แวร์ ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ และต้องเผชิญกับความยากลำบากในการแก้ปัญหา ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของลิขสิทธิ์และ การไม่มี source code ของซอฟต์แวร์ ดร.สตอลแมนจึงเริ่มพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ทั้งหมดขึ้นใหม่ และกลาย เป็นรากฐานที่สำคัญของระบบปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตัวหนึ่งคือ GNU/Linux

กฏหมายเพื่อสนับสนุนการผลิตซอฟต์แวร์เสรีภายในประเทศ[]

แม้ว่าโครงสร้างของอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์เสรีจะไม่ต้องพึ่งพารัฐมากนัก แต่กฏหมาย อาจเป็นอุปสรรคต่อการผลิตซอฟต์แวร์เสรี โดยเฉพาะกฏหมายสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีการบังคับใช้ ในประเทศไทย แต่ก็ได้เริ่มมีการบังคับใช้บางแล้วในบางประเทศ และยังมีการต่อสู้อยู่ในหลายประเทศ เช่นใน EU เป็นต้น แม้ว่ากฏหมายสิทธิบัตรจะมีผลดีต่ออุตสาหกรรมบางประเภท แต่กลับไม่มีผลดี กับการผลิตซอฟต์แวร์เสรี เนื่องจากในทางปฏิบัติ จะพบว่ากฏหมายดังกล่าวกลับเอื้อให้เกิดการผูกขาด การผลิตซอฟต์แวร์โดยผู้ผลิตรายใหญ่ เช่นในสหรัฐอเมริกา ที่มีการบังคับใช้กฏหมายดังกล่าว ก็มีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน หลายๆครั้งที่มีการยอมให้จดสิทธิบัตรในสิ่งที่ไม่ใช่นวัตกรรม ที่แท้จริง การตรวจสอบก็ทำได้ยาก เนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ในขณะที่สิทธิบัตรซอฟต์แวร์ มีจำนวนเป็นล้านรายการ ทำให้มีการเปรียบเทียบสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นสนามกับระเบิดสำหรับผู้ผลิต ซอฟต์แวร์รายย่อย ทั้งที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีและซอฟต์แวร์ประเภท proprietary ทำให้ผู้ผลิตรายย่อย มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องโดยผู้ผลิตรายใหญ่ๆตลอดเวลา นอกจากนี้ สิทธิบัตรซอฟต์แวร์ยังขัด กับหลักการของซอฟต์แวร์เสรี เพราะหากผู้ผลิตซอฟต์แวร์เสรีไปละเมิดสิทธิบัตรใด ไม่ว่าจะโดย เจตนาหรือไม่ก็ตาม ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ก็จะไม่สามารถจำหน่ายหรือแจกจ่ายซอฟต์แวร์นั้นออกไปได้

อย่างไรก็ตาม การให้เสรีภาพกับประชาชนในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์เป็นสิ่งสำคัญ รัฐอาจจะกำหนดแนวทาง การใช้งานซอฟต์แวร์ในส่วนราชการ แต่ควรให้เสรีกับประชาชนที่จะเลือกใช้ซอฟต์แวร์ใดๆที่ประชาชนต้องการ

ความพอเพียง ความยั่งยืน เสถียรภาพ ประสิทธิภาพ ความสามารถในการขยายงานเพื่อรองรับการเติบโตของชุมชน[]

ความพอเพียง และการสร้างทัศนะคติที่ดีในการบริหารจัดการทรัพยากรให้กับประชาชน[]

ประชาชนและหน่วยอุตสาหกรรมยังมีปัญหาในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับงานของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและควบคุมไม่ได้ ประชาชนส่วนมากขาดจิตสำนึกที่จะเคารพสิทธิของเจ้าของซอฟต์แวร์ ส่วนมากเนื่องจากซอฟต์แวร์มี ราคาสูงเกินไป แต่มีความจำเป็นต้องใช้มาก เมื่อประชาชนจำนวนมากละเมิดสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์ ประชาชนกลุ่มอื่นๆจึงเลียนแบบพฤติกรรมและกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีในสังคม

ทางออกหนึ่งคือ รัฐควรร่วมรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ไปพร้อมๆกับ การสร้างทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรม โดยการสร้างทัศนะคติที่ดีนั้น ควรให้ประชาชนเข้ามามีบทบาท ในการร่วมผลิตซอฟต์แวร์เสรีเพื่อเป็นทางเลือกให้กว้างขวาง ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ระบบบัญชีที่เป็นซอฟต์แวร์เสรี เป็นต้น รวมไปถึงการสร้างความสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การกระจายงานการผลิตซอฟต์แวร์เสรีไปสู่ประชาชน รัฐบาลสามารถดำเนินการจัดตั้ง สนับสนุน องค์กรอิสระ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในลักษณะเดียวกับ มูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี (Free Software Foundation http://www.fsf.org), Mozilla Foundation (http://en.wikipedia.org/wiki/Mozilla_Foundation), Apache Software Foundation (http://www.apache.org) เป็นต้น การเป็นหน่วยการผลิตแบบมูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไรและไม่ขึ้นกับ รัฐบาล จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยรวม และรัฐก็ไม่ต้องไปแข่งขัน กับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง หรือรัฐบาลอาจว่าจ้างเอกชน ให้ผลิตซอฟต์แวร์เสรีให้มูลนิธิดูแล โดยกำหนดเงื่อนไขให้ซอฟต์แวร์นั้นให้เป็นไปตามเงื่อนไขของซอฟต์แวร์เสรี โดยรัฐสามารถเริ่มพัฒนา แนวคิดดังกล่าวไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อทดแทนซอฟต์แวร์ที่รัฐและประชาชนจำเป็นต้องใช้ไปทีละส่วน ถ้าซอฟต์แวร์นั้นแพร่หลายในระดับโลก รัฐบาลและมูลนิธิย่อมได้รับความร่วมมืออย่างกว้างขวาง จากผู้นิยมแนวคิดซอฟต์แวร์เสรีจากทั่วโลกทั้งประชาชนทั่วไปและกลุ่มธุรกิจต่างๆอีกด้วย


ความยั่งยืนของโครงสร้างสารสนเทศเพื่องานสาธารณะ และความสามารถในการขยายงาน[]

การใช้ซอฟต์แวร์แบบ proprietary ทำให้เกิดต้นทุนเมื่อจำเป็นต้องมีการขยายงานเพื่อรองรับการเติบโตของชุมชน เพราะซอฟต์แวร์แบบ proprietary ส่วนมากไม่สามารถทำซ้ำและแจกจ่ายให้กันได้อย่างเสรี เช่นมีการกำหนด จำนวนผู้ใช้งาน มีการกำหนดจำนวนเครื่อง (โดยทั่วไปคือซอฟต์แวร์หนึ่งตัวต่อหนึ่ง CPU) มีการกำหนดเงื่อนไข ห้ามไม่ให้ผู้ใช้พยายามศึกษาขั้นตอนการทำงานของซอฟต์แวร์ในรายละเอียด (reverse engineering) รวมทั้งไม่ให้ source code ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขซอฟต์แวร์ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความยากลำบากที่จะ ซ่อมแซมระบบด้วยตัวเองเมื่อมีปัญหา และต้องพึ่งพาแต่เจ้าของซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังอาจเลิก กิจการไป หรือไม่สามารถติดตามได้ หรืออาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและระงับการให้บริการ

เนื่องจากโครงสร้างสารสนเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อความมั่นคงของประเทศ และความเป็นอยู่ ของประชาชน รัฐจึงควรให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของซอฟต์แวร์และสารสนเทศ ด้วยการกำหนด นโยบายการเลือกมาตรฐานของการประมวลผลและการจัดเก็บสารสนเทศอย่างชัดเจน (open standard) เพื่อให้ข้อมูลมีความยั่งยืนถาวร สามารถนำมาใช้ได้ตลอดไป และไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เมื่อมีความจำเป็นจะต้อง ขยายหน่วยงานการจัดเก็บข้อมูลควรใช้มาตรฐานเปิด ที่เป็นมาตรฐานกลาง และไม่ถูกผูกอยู่กับซอฟต์แวร์ หรือกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม เมื่อซอฟต์แวร์มีปัญหา ทุกฝ่ายควรเข้าไปร่วมตรวจสอบซ่อมแซมระบบได้ ไม่ใช่ต้องรอให้เจ้าของซอฟต์แวร์เข้าไปแก้ไข ในส่วนของซอฟต์แวร์เอง รัฐบาลควรมีอำนาจ ที่จะตรวจสอบการทำงานของซอฟต์แวร์นั้นโดยละเอียด ซอฟต์แวร์นั้นควรมีต้นรหัส (source code) ที่ชัดเจน มีเอกสารอธิบาย ขั้นตอนการทำงานของ source code (documentations) ละเอียดพอที่จะให้อิสระกับรัฐบาล เมื่อต้องมีการเปลี่ยนผู้ดูแลซอฟต์แวร์นั้นๆโดยไม่ถูกผูกขาดโดยผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายหนึ่งรายใด

ซอฟต์แวร์เสรีเป็นคำตอบที่ดี เนื่องจากซอฟต์แวร์เสรีสามารถทำซ้ำได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข สามารถดัดแปลง แก้ไข และให้ต่อได้ จึงไม่จำเป็นต้องจัดซื้อซอฟต์แวร์เพิ่มเติมเมื่อมีการขยายหน่วยงาน นอกจากนี้ยังมี ซอฟต์แวร์เสรียังมี source code มาให้เสมอ ทำให้ผู้ใช้สามารถจัดการแก้ไขได้เองเมื่อระบบเกิดปัญหา การเปิดเผย source code ยังทำให้ชุมชนสามารถร่วมตรวจสอบเสถียรภาพของระบบได้ ทำให้ระบบ มีเสถียรภาพสูง ข้อผิดพลาดถูกพบและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใด เป็นผู้ออก patch เพื่อแก้ไข การยอมให้เข้าใจการทำงานของซอฟต์แวร์เสรีอย่างละเอียด ทำให้สารสนเทศ ที่ถูกจัดเก็บโดยซอฟต์แวร์เสรีเข้าใจได้ง่าย และนำมาใช้ได้สืบไป ไม่ต้องกังวลว่าถ้าบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ มีความจำเป็นต้องเลิกกิจการไปแล้วจะไม่สามารถหาผู้มาดูแลทดแทนได้

ประสิทธิภาพของระบบ[]

ประสิทธิภาพของระบบซอฟต์แวร์ นอกจากจะขึ้นกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้พัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว ยังขึ้นกับบุคลากร ที่จะมาใช้ซอฟต์แวร์นั้นเป็นสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวซอฟต์แวร์เอง ถ้าบุคคลากรเข้าใจซอฟต์แวร์ได้อย่างลึกซึ้ง ก็ยิ่งสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงยังสามารถดัดแปลงแก้ไขซอฟต์แวร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์ได้โดยตรงอีกด้วย การเลือกชนิดของซอฟต์แวร์มีความสำคัญต่อการ เรียนรู้ของบุคคลากร การเปิดโอกาสให้บุคคลากรได้ฝึกฝนและพัฒนาความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และการพัฒนาบุคคลากรเพื่อให้รู้จักการทำงานร่วมกันในด้านซอฟต์แวร์ จะนำไปสู่การทำงานเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง และยิ่งสร้างความร่วมมือระหว่างกันได้มากเท่าไหร่ ผลผลิตที่ได้ก็จะ ยิ่งทวีคูณ เพราะเมื่อเทคโนโลยีในการผลิตไม่ถูกแบ่งแยก แต่ละคนก็สามารถพัฒนาแบบต่อยอดให้กับส่วนกลาง ดังเช่นองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผู้ที่ร่วมพัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องเสียทรัพยากรเพื่อทำสิ่งที่มีอยู่แล้วขึ้นซ้ำอีก แต่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนที่ต้องการ และนำไปแสวงหาประโยชน์จากการให้บริการด้วยซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว

รัฐอาจสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ด้วยการพัฒนาต่อยอดซอฟต์แวร์เสรีที่มีอยู่แล้วมากมาย เพื่อมาใช้ในกิจการ ของรัฐเอง ซอฟต์แวร์เสรีเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาร่วมกันอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากระบบปฏิบัติการ GNU/Linux เป็นต้น ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวยังทำให้เกิดชุมชนของการเรียนรู้ขึ้นแทบทุกมุมโลก และเป็นระบบที่สามารถ นำไปใช้ทำธุรกิจได้จริง เป็นระบบที่เปิดช่องให้นักศึกษาสามารถศึกษาได้โดยง่าย เพราะมี source code และ เอกสารให้อ่านเป็นจำนวนมาก ถ้ารัฐสามารถสร้างงานที่เตรียมไว้ให้นักศึกษาเหล่านี้ได้เพียงพอ รัฐย่อมได้ คนที่มีความสามารถสูง มีความเข้าใจระบบอย่างลึกซึ้งมาทำงาน สิ่งที่รัฐทำได้ก็เช่นการสร้างงานให้คนเหล่านี้ ในภาครัฐเป็นต้น เพื่อลดปัญหาการผูกขาดตลาดซอฟต์แวร์โดยผู้ค้ารายหนึ่งรายใด และทำให้เกิดความหลากหลาย ทางวิชาการมากขึ้น และนำไปสู่ประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาวที่สูงขึ้น

ความปลอดภัย โปร่งใส เป็นกลาง ความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้[]

ความปลอดภัยของซอฟต์แวร์จากการถูกบุกรุกผ่านข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์[]

ปัญหาของซอฟต์แวร์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และอาจทำให้บุคคลภายนอกแทรกแซงเข้าสู่ระบบผ่านความผิดพลาดนั้น ซอฟต์แวร์ที่ควรนำมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน จึงควรให้อิสระกับชุมชนเพื่อตรวจสอบข้อผิดพลาด ที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยความเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนมีเหตุผล และพร้อมจะศึกษาเพื่อพัฒนาและแสวงหาผล ประโยชน์ร่วมกันมากกว่าที่จะเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาระบบให้เข้าถึงได้จาก หลายฝ่ายให้กว้างขวาง และกระจายผลประโยชน์ให้ประชาชนได้รับร่วมกัน เช่นในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ การตรวจสอบได้อย่างกว้างขวางโดยชุมชนนี้ จะทำให้ข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์เกิดขึ้นได้ยาก หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถ ซ่อมแซมได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีไม่สามารถใช้ความผิดพลาดดังกล่าวเพื่อเป็นช่องทางเข้าถึง ข้อมูลและสารสนเทศที่สำคัญ และอาจนำไปใช้หรือเปลี่ยนแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ความปลอดภัยของซอฟต์แวร์จากการถูกแทรกแซงจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์และการเมือง[]

ซอฟต์แวร์เสรีสามารถสร้างความมั่นใจที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองข้ามชาติได้ เพราะสามารถตรวจสอบได้ง่าย จากทุกฝ่าย ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่างชาติอาจมีการทำข้อตกลงกับรัฐบาลของตน เพื่อแทรกชุดคำสั่งที่อาจเปิดช่องให้ต่างชาติ เข้าถึงสารสนเทศที่ไม่ควรเปิดเผย ซอฟต์แวร์ที่ต้องการความโปร่งใส เช่น e-voting ที่อาจจะมีในอนาคต หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้เพื่องานเฉพาะด้านของรัฐ เช่นการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงเป็นส่วนตัวของประชาชนทั่วไปที่อาจ ถูกตรวจสอบโดยซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้วยขั้นตอนที่ไม่ชอบธรรมด้วยกฏหมาย

เพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ของรัฐ[]

การผลิตซอฟต์แวร์ดำเนินการและดูแลโดยองค์กรอิสระ ขั้นตอนต่างๆสามารถตรวจสอบโดยประชาชนได้เต็มที่ ช่วยให้เครือข่ายประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบการจัดหาซอฟต์แวร์ของรัฐบาลมากขึ้น ว่าตรงกับความต้องการ ตามที่ได้กำหนดไว้ในงบประมาณ และคุ้มค่าเงินที่ประชาชนได้เสียไปจริงหรือไม่

การจัดการซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย เช่นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการทหาร[]

ซอฟต์แวร์ที่มีอันตราย และไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่นระบบควบคุมจรวดนำวิถี ถ้ารัฐไม่ต้องการเผยแพร่ชุดคำสั่งดังกล่าว ก็ยังสามารถพัฒนาชุดคำสั่งดังกล่าวโดยใช้ซอฟต์แวร์เสรีเป็นพื้นฐาน เพราะซอฟต์แวร์เสรีไม่ได้บังคับให้เปิดเผยส่วนที่ทำการ พัฒนาเพิ่มเพื่อใช้เองภายในหน่วยงาน ซอฟต์แวร์เสรีได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัยสูง เช่น OpenBSD เป็นต้น

การกระจายรายได้อย่างเหมาะสมไปสู่วิสาหกิจซอฟต์แวร์ในทุกขนาด[]

การเน้นการกระจายการผลิตจากผู้ผลิตกลุ่มเดียวเป็นผู้ผลิตรายย่อยหลายๆราย[]

ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ องค์กรธุรกิจประมาณ ๖๐๐ องค์กร ผู้เชี่ยวชาญประมาณ ๓๕,๐๐๐ คน นำเข้าซอฟต์แวร์ประมาณ ๗๐ เปอร์เซนต์ของตลาดทั้งหมด ส่งออกซอฟต์แวร์เป็นมูลค่าน้อยกว่า ๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตประมาณ ๒๓ เปอร์เซนต์ (พ.ศ. ๒๕๔๕)

การกระจายการผลิตไปสู่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายย่อยหลายๆราย จะช่วยลดการผูกขาดแพล็ตฟอร์มโดยบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ การสร้างความร่วมกันระหว่างผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายย่อยจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูง รัฐอาจให้การสนับสนุนการพัฒนา และวิจัยซอฟต์แวร์ และมาตรฐานซอฟต์แวร์ผ่านทางสมาคมการค้า โดยการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อประสานงานให้เกิดการบูรณาการ ระบบของสมาชิกในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ

การพัฒนาชุมชนขนาดย่อมที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้[]

รัฐสามารถสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์การมหาชนสำหรับซอฟต์แวร์เพื่อสังคม เพื่อเป็นที่ปรึกษาและแหล่งการศึกษาใน หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น และเป็นแหล่งทุนสำหรับโครงการซอฟต์แวร์ที่ไม่เน้นผลกำไร เพื่อประสานงานชุมชนเพื่อ การผลิตซอฟต์แวร์ และควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาบุคคลากรผ่านระบบการศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม

การสร้างความหลากหลายของการผลิต[]

การให้การสนับสนุนการสร้างเอกลักษณ์และความปรองดองกันระหว่างมาตรฐานของซอฟต์แวร์ จะช่วยให้เกิดความหลากหลาย ของซอฟต์แวร์ และความร่วมมือกันระหว่างคู่แข่งขัน ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ในภาพรวมทำงานร่วมกัน ได้ดียิ่งขึ้น

การพัฒนาการศึกษา[]

การใช้งานซอฟต์แวร์เสรีในการศึกษา[]

โดยทั่วไปซอฟต์แวร์แบบ proprietary มักไม่ให้ต้นรหัสมาด้วย ต้นรหัสของซอฟต์แวร์ มีความจำเป็นต่อการทำความเข้าใจ ระบบอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังมีราคาแพงและอาจเป็นอุปสรรคกับนักศึกษา ในหลายกรณีที่สถาบันการศึกษาอาจบังคับให้ นักศึกษาเลือกใช้ซอฟต์แวร์ตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งมักจะทำให้นักศึกษายึดติดกับซอฟต์แวร์บางตัว จนบางครั้งทำให้ไม่สามารถปรับตัว เมื่อต้องมีการใช้ซอฟต์แวร์ทางเลือกอื่นๆ

ถ้ารัฐกำหนดให้สถาบันการศึกษา เน้นให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงทางเลือกอื่นๆ เช่น สนับสนุนให้มีการใช้ซอฟต์แวร์เสรีในการสอน หรือการเปิดวิชาเฉพาะสายงานซอฟต์แวร์เสรี จะทำให้มีความหลากหลายทางวิชาการและมีการแข่งขันในสายงานมากขึ้น การศึกษาซอฟต์แวร์เสรีในระดับรายละเอียดทำได้ง่าย เพราะมีต้นรหัสมาให้ และโดยมากจะมีการทำเอกสารอธิบายต้นรหัส ค่อนข้างดี เหมาะที่จะนำมาใช้ในการศึกษาอย่างยิ่ง

การเผยแพร่สารสนเทศ การสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดี[]

ทั้งสถาบันการศึกษา นักศึกษา ภาคเอกชนยังขาดความเข้าใจถึงความสำคัญของโครงสร้างสารสนเทศอย่างยั่งยืน และพอเพียง และมักจะผูกระบบบริหารจัดการของหน่วยงานกับซอฟต์แวร์แบบ proprietary ซึ่งอาจทำให้ไม่มีตำแหน่งงานเพียงพอที่จะ รองรับนักศึกษาที่จบใหม่ในสายซอฟต์แวร์เสรี ถ้ารัฐช่วยสร้างความเข้าใจในกระบวนทัศน์ของซอฟต์แวร์เสรีให้กับทุกฝ่าย ก็น่าจะทำให้ระบบโดยรวมสามารถพึ่งพาตัวเองได้เร็วยิ่งขึ้น


การสนับสนุนให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์แวร์เสรีขึ้นใช้เอง[]

รัฐอาจช่วยสนับสนุนให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นใช้เอง โดยคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของสถานศึกษา เช่นซอฟต์แวร์เพื่อช่วยในการศึกษา และสังคมรอบๆ ตลอดจนสนับสนุนให้คำนึงถึงเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสถานที่ เพื่อเน้น การกระจายโครงสร้างการผลิตซอฟต์แวร์เสรีเข้าสู่ชุมชน

การสนับสนุนให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกันระหว่างสถาบัน[]

การสนับสนุนให้มีการพัฒนาร่วมสำหรับซอฟต์แวร์เสรีที่เป็นความต้องการพื้นฐานร่วมกันระหว่างสถาบัน จะช่วยพัฒนา ระดับความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบัน จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจโครงสร้างชุมชนของระบบซอฟต์แวร์เสรี ได้ดีขึ้น และพร้อมที่จะออกไปทำงานกับชุมชนซอฟต์แวร์เสรีอื่นๆ นอกจากนี้ยังลดค่าใช้จ่ายในระบบซอฟต์แวร์ที่สถาบันการศึกษา สามารถใช้ร่วมกันได้

Advertisement